กฟผ. จับมือ กคช. พัฒนาบ้านเบอร์ 5 สู่ชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืน

กฟผ. ร่วมกับ กคช. เดินหน้าพัฒนาบ้านเบอร์ 5 ภายใต้โครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้าน ที่อยู่อาศัย พร้อมขยายขอบเขตสู่การส่งเสริมให้เป็นชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น Smart and Sustainable Community for Better Well-being (SSC) บูรณาการการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างรอบด้านและยั่งยืน

วันนี้ (2 กันยายน 2563) นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานกรรมการ กฟผ.พร้อมด้วย นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ร่วมเป็นประธานและสักขีพยาน ในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการฉลากแสดง ระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย และโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือ Smart and Sustainable Community for Better Well-being (SSC) ระหว่าง กฟผ. โดยนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (รวธ.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) โดยนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการ กฟผ. และ กรรมการ กคช. นายบุญทวี กังวานกิจ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ (รวสก.) ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ (ชยน.) นายชฎิล ศุขะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการพัฒนาองค์การ (ชหพ.) ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานทั้งสองหน่วยงานเข้าร่วมงาน ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร ท.103 สำนักงานใหญ่ กฟผ.

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รวธ. กล่าวถึงความร่วมมือว่า กฟผ. ได้ดำเนินโครงการก่อฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งปัจจุบันสามารถยกระดับให้เกิดบ้านเบอร์ 5 ในโครงการบ้านที่อยู่อาศัยสร้างใหม่สำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางของ กคช. รวม 14 โครงการ คาดว่าเมื่อดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถส่งผลให้ประเทศประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 3.6 ล้านหน่วยต่อปี ลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของผู้อาศัยได้ประมาณ 14.4 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 1,800 ตันต่อปี โดยได้มีการเปิดตัวโครงการนำร่องบ้านเบอร์ 5 แห่งแรก ณ โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนเชิงสังคม ชลบุรี (บ่อวิน) ระยะที่ 2 และ กฟผ. ยังเป็นที่ปรึกษาด้านพลังงาน ให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชนอื่นของ กคช. อีกด้วย

“สำหรับปี 2563 กฟผ. และ กคช. ได้ร่วมกันขยายขอบเขตความร่วมมือสู่การพัฒนาและส่งเสริมโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือ Smart and Sustainable Community for Better Well-being (SSC) ซึ่ง กฟผ. ได้วางแนวทางรองรับโครงการฯ อาทิ การบูรณาการระบบแสดงผลและเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ หรือ Sensor for all การดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พร้อมทั้งบริหารจัดการพลังงานองค์รวมแบบอัจฉริยะ (Smart Energy Solution) จัดแสดงผ่าน Dashboard หรือ Application ให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเห็นถึงข้อมูลการใช้พลังงานและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ รวมถึงการสร้างความรู้สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน ในรูปแบบ Online for Life สร้างทักษะอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ผ่านคลิปวิดีโอออนไลน์ และรูปแบบ On-ground for life ตลาดนัดสินค้าชุมชนของ กฟผ. และ กคช. เป็นต้น โดยจะดำเนินการนำร่อง ณ โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง จังหวัดสมุทรปราการ” รวธ. กล่าวเพิ่มเติม

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการ กคช. เผยว่า ความร่วมมือโครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับ ที่อยู่อาศัยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2560–2565 ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งโครงการบ้านเบอร์ 5 ระหว่าง กคช. และ กฟผ. นี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในครัวเรือน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการพัฒนา การออกแบบที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการสร้างงานและสร้างอาชีพที่เกี่ยวข้อง ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในระดับประเทศ โดยตั้งแต่ปี 2560-2562 ที่ผ่านมา กคช. ได้ดำเนินการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย บ้านเบอร์ 5 จำนวน 14 โครงการ รวม 3,411 หน่วย 

“ปัจจุบัน กคช. และ กฟผ. รวมถึงภาคีที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ได้ร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด 4 มิติ ประกอบด้วย การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบ ความมั่นคงของระบบนิเวศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสุขภาวะทางสังคม โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในการพัฒนาชุมชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กคช. เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย พัฒนาชุมชน และขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ผู้ว่าการ กคช. กล่าวเพิ่มเติม