กฟผ. เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต ร่วมสู้โควิด-19 ระลอกใหม่ไปด้วยกัน

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่ราวต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากยอดจำนวนผู้ติดเชื้อที่แตะหลักหมื่นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์ความรุนแรงของโรคไม่ใช่แค่สร้างความเครียด ความวิตกกังวลแก่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ให้ยืดเยื้อยาวนานต่อไปอีก หลายหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนจึงได้ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อสู้กับโรคร้ายนี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการควบคุมและป้องกัน การให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการส่งกำลังใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นพลังให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยเดินหน้าสู้ต่อไป เพราะทุก ๆ สิ่ง ล้วนมีค่า ณ เวลานี้ เช่นเดียวกับ กฟผ. ที่พร้อมผนึกกำลังร่วมกับทุกภาคส่วน เคียงข้างคนไทยสู้วิกฤตโควิด-19 ให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน

มอบ 50 ล้านบาท หนุนโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ

กฟผ. ได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณจำนวน 50 ล้านบาท ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลสนามทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือไปยังโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศก่อน เริ่มด้วยการทยอยส่งมอบอุปกรณ์และของใช้จำเป็นต่าง ๆ ให้แก่โรงพยาบาลสนามแล้วใน 7 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอุบลราชธานี

สำหรับงบประมาณจำนวน 50 ล้านบาทนี้ จะถูกนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ในการผลิตตู้ตรวจโควิด ซึ่งมีความสำคัญและกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากต่อการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองจำนวนมากได้ รวมถึงนำไปผลิตเสากดแอลกอฮอล์เจลแบบเท้าเหยียบที่ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากการใช้มือสัมผัส ซึ่งเป็นนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. อีกทั้งยังเตรียมไว้สำหรับจัดหาอุปกรณ์ป้องกันและสิ่งของจำเป็นที่ต้องใช้ในโรงพยาบาลสนาม ทั้งสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย เช่น เจลและสเปรย์อนามัย “น้ำใจ” กฟผ. หน้ากากอนามัย ชุดสวมใส่ป้องกัน หมวกคลุมผม ผ้าห่ม ENGY พัดลม และน้ำดื่ม “น้ำใจ” กฟผ. เป็นต้น

นอกจากโรงพยาบาลสนามแล้ว ยังได้พิจารณาจัดสรรให้แก่โรงพยาบาลอื่น ๆ ทั่วประเทศที่ขอรับการสนับสนุนอีกด้วย โดยล่าสุด กฟผ. ได้มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นให้แก่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปมอบให้โรงพยาบาลตามภูมิภาคในสังกัดที่ขาดแคลนต่อไป รวมถึงมอบอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ และงบประมาณให้แก่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้สำหรับเป็นค่าอาหารและที่พักให้แก่เจ้าหน้าที่อาสาสมัครจากต่างจังหวัด ซึ่งมาช่วยเป็นกำลังเสริมในการรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ตกค้างตามบ้านเรือนให้ถึงโรงพยาบาลสนามโดยเร็ว

ไม่เพียงเท่านั้น ภายในงานวันสถาปนา กฟผ. ก้าวสู่ปีที่ 53 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 29 เมษายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างการมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือบรรเทาสถานการณ์โควิด-19 ซึ่ง “พี่สิงห์” นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ได้เชิญชวนผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ทั่วประเทศ ร่วมบริจาคเงินสมทบทุน โดยร่วมกับ กฟผ. และบริษัทในกลุ่ม กฟผ. ซึ่งได้รับอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น มอบให้โรงพยาบาลต่าง ๆ โดยเน้นการกระจายตัวให้ทั่วถึงและตรงกับความต้องการให้ได้มากที่สุด

กฟผ.มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์สู้ภัย COVID-19 วุฒิสภา

ในฐานะหน่วยงานของประชาชน กฟผ. มีนโยบายให้ความช่วยเหลือทุกวิกฤตการณ์ของประเทศในทุก ๆ ด้าน เท่าที่สามารถจะดำเนินการได้ โดยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงครั้งนี้ กฟผ. ได้ระดมทุกสรรพกําลัง ทั้งกำลังกายจากผู้ปฏิบัติงานจิตอาสาทั่วประเทศ ตลอดจนกำลังทรัพย์กว่า 200 ล้านบาท จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ และผลิตนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นต่าง ๆ มอบให้โรงพยาบาลไปแล้วกว่า 247 แห่ง ใน 64 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงสนับสนุนช่วยเหลือชุมชนและสังคมเพื่อให้คนไทยได้กลับมาใช้ชีวิตปกติโดยเร็วที่สุด

‘ตู้ตรวจโควิด’ พระเอกปกป้องทีมแพทย์

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกนี้ที่แพร่กระจายได้ง่ายกว่าเดิม และผู้ป่วยมีอาการรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา ดังนั้น การค้นหาผู้ป่วยให้ได้มากที่สุดและนำตัวเข้าสู่สถานพยาบาลโดยเร็วก่อนที่อาการป่วยจะรุนแรงมากขึ้นจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบทำ นั่นหมายความว่าการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ที่เข้าข่ายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยง จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยเฝ้าระวังและบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้ ตู้ตรวจโควิด จึงมีความสำคัญต่อการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้เข้ารับการตรวจและจำกัดพื้นที่การฟุ้งกระจายสารคัดหลั่งได้เป็นอย่างดี

กฟผ. ร่วมสู้ภัย COVID-19 มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณะสุข เป็นผู้รับมอบ
กฟผ.มอบตู้ความดับลบและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช

ด้วยความร่วมมือร่วมใจของผู้ปฏิบัติงานฝ่ายโรงงานและอะไหล่ (อรอ.) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการซ่อมและบำรุงรักษา มีเครื่องมือและอุปกรณ์ช่างนานาชนิด รวมถึงจิตอาสาจากหน่วยงานต่าง ๆ ของ กฟผ. ที่มีศักยภาพ ได้ช่วยกันผลิตตู้ตรวจโควิดที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการใช้งาน ภายใต้การออกแบบและให้คำแนะนำโดย นพ.อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และฝ่ายแพทย์และอนามัย (อพอ.) ทำให้ได้ผลผลิตเป็นตู้ตรวจโควิด กฟผ. ที่มีคุณภาพ ก่อนทำการส่งมอบไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่มีความต้องการทั่วประเทศ

ตู้ตรวจโควิดที่ กฟผ. ผลิตขึ้นมานั้น มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมทรงสูง ผลิตจากแผ่นอะคริลิกหนา สีใส ภายในมีช่องใส่ถุงมือปิดซีลอย่างมิดชิดเพื่อใช้เก็บสารคัดหลั่งของ ผู้ป่วย มีทั้ง ตู้ตรวจโควิดชนิดความดันบวก เหมาะนำไปใช้ตรวจคัดกรองผู้ป่วยเชิงรุก ที่มีผู้เข้ารับการตรวจจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายในตู้ ผู้รับการตรวจอยู่ภายนอกตู้ ส่วน ตู้ตรวจโควิดชนิดความดันลบ เหมาะสำหรับคัดแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วไม่ให้เชื้อฟุ้งกระจายสู่ภายนอก โดยเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายนอกตู้ ผู้รับการตรวจอยู่ภายในตู้ มีการติดตั้งระบบควบคุมแรงดันอากาศ ระบบหมุนเวียนอากาศ ระบบกรองอากาศและฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสี UVC พร้อมติดตั้งล้อเลื่อนเพิ่มความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายและใช้งานในพื้นที่หลากหลาย รวมถึงได้มีการพัฒนาเสริมความแข็งแกร่งคงทนของตู้ด้วยฐานสแตนเลส และได้ติดตั้งไมโครโฟนและลำโพงสำหรับใช้สื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการในตู้รุ่นใหม่อีกด้วย

กฟผ.สนับสนุนตู้ความดันลบ น้ำดื่ม และ อุปกรณ์ทางการแพทย์โรงพยาบาลสนาม โควิด19 Covid-19

นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นในประเทศไทย มีโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศขอรับการสนับสนุนตู้ตรวจโควิดจาก กฟผ. และ กฟผ. ได้ทำการแจกจ่ายไปแล้วกว่า 500 ตู้ ซึ่งหลังจากที่โรงพยาบาลได้นำตู้ตรวจโควิดไปใช้งานแล้ว พบว่าได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งด้านความคล่องตัวในการใช้งานและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อได้จริง นอกจากนี้ ยังเป็นที่ยอมรับจากสังคมโดยทั่วไป เห็นได้จากสื่อต่าง ๆ ให้ความสนใจและนำไปเผยแพร่ในวงกว้าง

ปัจจุบัน จิตอาสา กฟผ. ทั่วประเทศกำลังเร่งผลิตตู้ตรวจโควิดอย่างแข็งขัน เพื่อส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลสนามในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่ขอรับการสนับสนุนให้เพียงพอมากที่สุด ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่ประสงค์ขอรับตู้ตรวจโควิดของ กฟผ. สามารถติดต่อประสานงานโดยตรงได้ที่ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์และอนามัย (อพอ.) โดยส่งอีเมลมาที่ arthit.u@egat.co.th ซึ่งการพิจารณาให้การสนับสนุนนั้น กฟผ. จะจัดสรรตามความเหมาะสม เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างเต็มที่

แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 ระลอกที่ 3 จะหนักหนาเพียงใด กฟผ. จะร่วมเคียงข้างคนไทย ฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน ภายใต้แนวคิด EGAT for ALL กฟผ. เป็นของคนไทยทุกคน และทำเพื่อทุกคน พร้อมผนึกกําลังร่วมกับทุกภาคส่วน เสริมกำลังการทำงานและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ นักรบด่านหน้า ที่กำลังต่อสู้กับโรคร้ายนี้อย่างสุดกำลัง